กฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

กฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์


 
        ในโลกของสื่อยุคเก่า ข้อเขียน บทความ จำนวนมาก ที่ถึงแม้จะผ่านกระบวนการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนจากบรรณาธิการแล้ว ก็ยังส่งผลความเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติยศ ของบุคคลอื่น โดยที่บุคคลเหล่านั้นน้อยราย ที่จะใช้กฎหมายปกป้องตัวเอง
     ในโลกของสื่อใหม่ การสื่อสารที่รวดเร็ว ฉับไว โดยก้าวข้ามขั้นตอนการกลั่นกรองของบรรณาธิการในฉับพลันทันที ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะก่อความเสียหายให้กับบุคคลอื่นมากยิ่งขึ้น
      มีผู้คนจำนวนมาก ที่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรคอมพิวเตอร์ ในรูปแบบต่างๆ ทั้งในเชิงวาทกรรม บิดเบือนข้อมูล แพร่ภาพหรือตัดต่อภาพอนาจาร ฉ้อโกง ฟอกเงิน ฯลฯ  โดยที่ไม่สามารถจัดการป้องกันได้ ด้วยข้อจำกัดของกฎหมายว่าด้วยความผิดทางอาญา ที่มิได้ครอบคลุมถึง
      อำนาจการสื่อสารในไซเบอร์สเปซที่จะใช้คอมพิวเตอร์เป็นช่องทางในการก่ออาชญากรรม จึงเป็นอำนาจที่ไร้ขอบเขต ในขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงจิตสำนึกในเชิงจริยธรรมที่อ่อนแออย่างยิ่ง
      พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ ๒๕๕๐ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันนี้ (๑๘) น่าจะเป็นความหวังของบรรดาเหยื่ออาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ในการใช้เพื่อต่อสู้กับการถูกกระทำย่ำยี โดยโจรคอมพิวเตอร์ได้
       ๕ ฐานความผิดอาชญากรคอมพิวเตอร์
        ๑.แฮกเกอร์ (Hacker)
         มาตรา ๕ "ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดิอน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
         มาตรา ๖ "ผู้ใดล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้อื่นจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะ ถ้านำมาตรการดังกล่าวไปเปิดเผยโดยมิชอบในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
          มาตรา ๗ " ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ และมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
           มาตรา ๘ "ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ โดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็คทรอนิคส์เพื่อดักรับไว้ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้ เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ"
คำอธิบาย  ในกลุ่มความผิดนี้ เป็นเรื่องของแฮกเกอร์ (Hacker) คือ การเจาะเข้าไปใน"ระบบ"คอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ซึ่งระดับความร้ายแรงของโทษ ไล่ขึ้นไปจากการใช้ mail ของคนอื่น เข้าไปในระบบ  หรือเผยแพร่ mail ของคนอื่น การเข้าไปใน "ข้อมูล" คอมพิวเตอร์ ของบุคคลอื่น จนกระทั่งการเข้าไปจารกรรมข้อมูลส่วนบุคคล โดยวิธีการทางอิเล็คทรอนิกส์ เช่น ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการค้า (Corporate Eepionage)
        ๒.ทำลายซอฟท์แวร์
           มาตรา ๙ "ผู้ใดทำให้เสียหาย  ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
            มาตรา ๑๐ "ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ โดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
คำอธิบาย เป็นลักษณะความผิดเช่นเดียวกับ ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ในประมวลกฎหมายอาญา แต่กฎหมายฉบับนี้หมายถึงซอฟท์แวร์ หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์
         ๓ ปกปิด หรือปลอมชื่อส่ง Mail
             มาตรา ๑๑ "ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่น โดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกินไม่เกินหนึ่งแสนบาท"
คำอธิบาย  เป็นการส่งข้อมูล หรือ Mail โดยปกปิดหรือปลอมแปลงชื่อ รบกวนบุคคลอื่น เช่น จดหมายลูกโซ่ ข้อมูลขยะต่างๆ
        ๔.ผู้ค้าซอฟท์แวร์ สนับสนุนการทำผิด
            มาตรา ๑๓ "ผู้ใดจำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือ ในการกระทำความผิดตามมาตรา ๕ - ๖ - ๗ - ๘ - ๙ - ๑๐ และ ๑๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
คำอธิบาย เป็นความผิดที่ลงโทษผู้ค้าซอฟท์แวร์ ที่นำไปใช้เป็นเครื่องมือกระทำความผิดตาม มาตรา ๕ - ๑๑
        ๕.ตัดต่อ เผยแพร่ ภาพอนาจาร   
            มาตรา ๑๖ "ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไป อาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฎเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
             ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยสุจริต ผู้กระทำไม่มีความผิด
คำอธิบาย เป็นเรื่องของการตัดต่อ หรือตกแต่งภาพดารา ภาพบุคคลอื่นด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ในลักษณะอนาจาร และเผยแพร่ไปยังบุคคลที่สาม คำว่าประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความเสียหายนั้น เพียงเห็นภาพก็น่าเชื่อแล้ว ไม่จำเป็นต้องยืนยันด้วยหลักฐาน หรือบุคคลโดยทั่วไปจะต้องเข้าใจในทันทีว่าบุคคลที่สามนั้นจะต้องได้รับความเสียหายอย่างแน่นอน จากการเผยแพร่ภาพนั้น
             สำหรับผู้ที่ได้รับภาพ ไม่มีความผิด ยกเว้นจะ Forward หรือเผยแพร่ต่อ ความผิดตามมาตรานี้เป็นความผิดอันยอมความได้
             ถึงแม้จะมีกฎหมายที่ตราขึ้นไว้เฉพาะความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์แล้วก็ตาม แต่ความผิดในลักษณะนี้ไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้า ซึ่งสามารถรู้ตัวผู้กระทำความผิดได้ในฉับพลัน เช่นเดียวกับความผิดอาญาโดยทั่วไป นอกจาก "รอยเท้าอิเล็กทรอนิกส์" (electronic footprints) อันได้แก่ IP หรือร่องรอยที่ทิ้งไว้ในซอฟท์แวร์
   แต่ถึงอย่างไร นับจากวันนี้(๑๘) อาชญากรคอมพิวเตอร์ ก็มิอาจหลบเร้นกายได้อีกต่อไป 
ที่มา : http://www.oknation.net/blog/chakkrish/2007/07/18/entry-2